MemoryToday.com
Memory UpgradeMemory Price ListMemory ForumsAbout MemoryToday

     LINE Chat

     Server HDD
ศูนย์รวม Hard Disk Drive สำหรับ Server รุ่นต่าง ๆ สอบถามได้ทันทีที่ Corporate Center: 02-641-0055

     Server Memory
ศูนย์รวมแรม Server และ Workstation ชนิดต่าง ๆ สอบถามได้ทันทีที่ Corporate Center: 02-641-0055

     Corporate Center
ดีลเลอร์ บริษัท องค์กร และหน่วยงานราชการ สามารถติดต่อโดยตรงไปยังกลุ่มผู้ดูแลลูกค้าพิเศษ เพื่อรับสิทธิพิเศษและเงื่อนไขการชำระเงินได้ที่ Corporate Center: 02-641-0055

     Who's Online
ขณะนี้มี 945 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

     Total Hits
มีผู้เข้าเยี่ยมชม
604425916
คน ตั้งแต่ กันยายน 2547

MemoryToday.com :: ดูกระทู้ - เจาะลึก การ์ดหน่วยความจำ สำหรับอุปกรณ์ยุคดิจิตอล ( ^-^)b
  คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว  ค้นหาค้นหา  รายนามสมาชิกรายชื่อสมาชิก   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเข้าระบบ  เข้าระบบTo be member
เจาะลึก การ์ดหน่วยความจำ สำหรับอุปกรณ์ยุคดิจิตอล ( ^-^)b

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MemoryToday.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> MemoryToday.com : สอบถามข้อมูลสินค้าและการบริการ
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
Nut
Customer Support


เข้าร่วมเมื่อ: Jun 12, 2006
ตอบ: 232

ตอบตอบ: Wed Jun 21, 2006 6:59 pm    ชื่อกระทู้: เจาะลึก การ์ดหน่วยความจำ สำหรับอุปกรณ์ยุคดิจิตอล ( ^-^)b ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

อุปกรณ์ดิจิตอลยุคใหม่แทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ, กล้องดิจิตอล, เครื่องพีดีเอ, เครื่องพ็อคเก็ตพีซี, เครื่องปาล์ม, เครื่องบันทึกเสียง, เครื่องเล่นเกมส์, เครื่องปริ้นเตอร์, เครื่องสแกนเนอร์ หรือ เครื่องเล่นเพลง MP3 คงจะขาดเรื่องของหน่วยบันทึกข้อมูลหรือหน่วยความจำไปไม่ได้ เนื่องจากนับวันขนาดของข้อมูลนั้นมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และการใช้งานทั่วไปก็มักจะต้องมีการเก็บบันทึกข้อมูลอยู่เสมอ ซึ่งรูปแบบของหน่วยความจำที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันก็คือการ์ดหน่วยความจำ โดยมีการผลิตออกมาในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป และการ์ดบางประเภทก็ยังมีรูปแบบพิเศษของตนเองที่แยกย่อยออกไปอีกด้วย ซึ่งบางครั้งก็สร้างความสับสนให้กับผู้ใช้งานอยู่ไม่น้อย ดังนั้นเพื่อให้ทุกท่านได้รู้จักกับการ์ดหน่วยความจำในแต่ละประเภทดียิ่งขึ้น ทางเว็บไซต์ Thaimobilecenter จึงถือโอกาสขอนำการ์ดหน่วยความจำแต่ละประเภทมาแนะนำแก่ทุกท่านแบบเต็มๆ กันเลยทีเดียว


SmartMedia Card (SMC)



ข้อมูลทั่วไปของ SmartMedia Card

SmartMedia Card เป็น Memory Card ที่คิดค้นมาตรฐานขึ้นมาโดย บริษัท โตชิบา และถูกนำเสนอแก่สาธารณะชนอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1995 โดยในสมัยนั้นได้ผลิตออกมาเพื่อแข่งขันกับ MiniCard หรือ Miniature Card, CompactFlash Card และ PC Card (PCMCIA Card) โดยตรง ชื่อเริ่มแรกของ SmartMedia Card นั้นใช้ชื่อว่า SSFDC (Solid State Floppy Disk) ซึ่งราวกับว่าเป็นเทคโนโลยีที่สืบทอดมาจาก Floppy Disk ก็ว่าได้ โดยในปัจจุบัน SmartMedia Card นั้นได้ยกเลิกสายการผลิตไปแล้ว เนื่องจากการใช้งานไม่แพร่หลายและมีเทคโนโลยีการ์ดหน่วยความจำแบบใหม่ๆ เข้ามาแทนที่

ส่วนประกอบหลักของ SmartMedia Card นั้นประกอบไปด้วยแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ NAND แบบเดี่ยว และชิป EEPROM (Electrically-Erasable Programmable Read-Only Memory) ที่บรรจุรวมไว้ในการ์ดพลาสติกที่บางเพียงแค่ 0.76 มิลลิเมตร และมีความกว้างยาวเพียงแค่ 45x37 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเป็นการ์ดหน่วยความจำที่มีความเล็กและบางมากที่สุดในสมัยนั้น และมีการพยายามลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้มีราคาที่ไม่แพง เช่นการตัดส่วนของคอนโทรลเลอร์ภายในออกไป เป็นต้น SmartMedia Card ถึงแม้ว่าจะมีความบางมากกว่า CompactFlash Card หรือการ์ดชนิดอื่นๆ ในสมัยนั้น แต่ทว่ามันก็มีจุดด้อยอยู่ในตัวของมันเอง นั่นคือ SmartMedia Card จะไม่มีส่วนควบคุมการทำงานของการ์ดหรือตัวคอนโทรลเลอร์ จึงสามารถที่จะใช้งานบันทึกข้อมูลได้เพียงอย่างเดียว โดยส่วนควบคุมการทำงานนั้นจะเป็นหน้าที่ของอุปกรณ์ที่นำ SmartMedia Card ไปใช้งาน และอุปกรณ์รุ่นเก่าๆ บางอย่าง อาจจะต้องมีการอัพเดตเฟิร์มแวร์เพื่อให้สามารถรองรับความจุที่มากขึ้นได้

SmartMedia Card ถูกนำไปใช้งานมากที่สุดกับกล้องดิจิตอล และได้รับความนิยมถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ.2001 เมื่อสามารถเข้าครองตลาดการ์ดหน่วยความจำสำหรับกล้องดิจิตอลได้มากถึง 50% ของตลาดรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้องดิจิตอลยี่ห้อ Fuji และ Olympus ที่สมัยนั้นมีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาสนับสนุนการ์ดหน่วยความจำแบบ SmartMedia Card อย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามการใช้งาน SmartMedia Card ก็มาพร้อมกับปัญหาบางอย่างด้วย เช่น SmartMedia Card ไม่มีการผลิตขนาดความจุที่มากกว่า 128 MB ออกมา และกล้องดิจิตอลแบบคอมแพ็ค (กล้องดิจิตอลขนาดเล็ก) ก็เริ่มที่จะมีขนาดที่เล็กลงเรื่อยๆ ในขณะที่ SmartMedia Card นั้น นับวันถือว่ามีขนาดใหญ่เกินไปเสียแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นต่อมากล้องดิจิตอล Olympus ก็ได้หันไปใช้การ์ดหน่วยความจำแบบ SD Card (Secure Digital Card) แทน และต่อมาผู้สนับสนุนหลักก็มาตีจากไปหมด ทั้งกล้องดิจิตอล Olympus และ Fuji เมื่อมีการเปลี่ยนไปใช้การ์ดหน่วยความจำแบบ xD Card และอุปกรณ์ดิจิตอลชนิดอื่นๆ ในสมัยนั้น เช่น เครื่องพีดีเอ, เครื่องเล่นเพลง MP3 หรือเพจเจอร์ แม้ว่าจะมีการนำ SmartMedia Card ไปใช้บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีการใช้งานกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ SmartMedia Card ขนาดความจุที่มากกว่า 128 MB นั้นไม่มีการผลิตออกมาจำหน่าย และอุปกรณ์รุ่นเก่าๆ บางอย่างก็ไม่สามารถรองรับ SmartMedia Card ที่มีความจุมากกว่า 32 MB ได้หากไม่มีการอัพเดตเฟิร์มแวร์ อย่างไรก็ดีข่าวบางกระแสก็ว่ามี SmartMedia Card ขนาด 256 MB ออกวางจำหน่ายและโฆษณาในบางที่ แต่ก็ไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ SmartMedia Card

- ขนาด 45 x 37 x 0.76 มิลลิเมตร (1.77 x 1.45 x 0.003 นิ้ว)
- น้ำหนัก 1.8 กรัม
- ขนาดความจุสูงสุด 128 MB (มีตั้งแต่ขนาด 2, 4, 8, 16, 32, 64 และ 128 MB)
- ใช้ Flash Memory Chip แบบ NAND-type 16-Mbit, 32-Mbit และ 64-Mbit
- ขั้วต่อแบบ 22 ขา
- I/O Interface แบบ 8-bit และ 16-bit
- อัตรา Media Transfer สูงสุด 3.5 MB ต่อวินาที
- อัตรา Interface Transfer สูงสุด 8 MB ต่อวินาที
- เวลาในการค้นหาข้อมูลโดยเฉลี่ย 10.8 ms
- อุณหภูมิที่สามารถทำงานได้ 0 ถึง 60 องศาเซลเซียส
- จำนวนรอบในการอ่าน-เขียนข้อมูล สูงสุด 1,000,000 รอบ
- ค่า MTBF (Mean Time Between Failures : ค่าเวลาโดยประมาณในกรณีที่ไม่เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน) 250,000 ชั่วโมง
- สามารถบันทึกข้อมูลไว้ได้นาน 10 ปี โดยไม่ต้องอาศัยพลังงาน
- ค่า Shock Resistance 1000 G (เท่ากับการปล่อยลงสู่พื้นจากระดับความสูง 5 ฟุต)
- ค่า Vibration Resistance 15 G
- อัตราการสิ้นเปลืองพลังงาน (อ่าน 56 mA, เขียน 14 mA)
- สามารถนำไปใส่ในช่องแบบ PCMCIA ด้วยตัว PCMCIA Adapter หรือ PC Card Adapter
- สามารถรองรับการใช้งานกับการ์ดหน่วยความจำแบบ CompactFlash โดยการต่อกับ Adapter
- สามารถรองรับการใช้งานกับ Floppy Drive ขนาด 3.5 นิ้ว โดยการต่อกับ FlashPath Adapter


xD Card (xD-Picture Card)



ข้อมูลทั่วไปของ xD Card

xD Card นั้นมีชื่อเต็มว่า xD-Picture Card โดย xD นั้นย่อมาจากคำว่า Extreme Digital ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย บริษัท Olympus และ Fujifilm ซึ่งถูกนำเปิดตัวสู่ตลาดเมื่อ เดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.2002 และดำเนินการผลิตโดย บริษัท Toshiba ยี่ห้อของ xD Card นั้นนอกจาก Olympus และ Fujifilm แล้ว ก็ยังมียี่ห้อ Kodak, SanDisk และ Lexar

xD Card นั้นผลิตออกมาเพื่อเน้นนำไปใช้กับกล้องดิจิตอลยี่ห้อ Olympus, Fujifilm และ Kodak โดยขนาดความจุของ xD Card นั้นก็มีตั้งแต่ 16, 32, 64, 128, 256, 512MB และ 1GB ซึ่งถ้าหากเป็นขนาดความจุ 16 และ 32MB จะมีความเร็วในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 5Mbps และความเร็วในการเขียนข้อมูลอยู่ที่ 1.8Mbps ส่วน xD Card ที่มีขนาดความจุ 64, 128, 256 และ 512MB จะมีความเร็วในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 5Mbps และความเร็วในการเขียนข้อมูลอยู่ที่ 3Mbps สุดท้ายหากเป็น xD Card ที่มีขนาดความจุ 1GB ก็จะมีความเร็วในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 4Mbps และความเร็วในการเขียนข้อมูลอยู่ที่ 2.5Mbps

ในปี 2005 ได้มี xD Card ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบใหม่ผลิตออกมาคือ xD Card Type M ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมแบบ MLC (Multi Level Cell) ทำให้มีขนาดความจุของข้อมูลเพิ่มขึ้นได้มากกว่าขีดจำกัดเดิม (512MB) และในทางทฤษฎี xD Card Type M นี้จะสามารถขยายขนาดความจุได้สูงสุดถึง 8 GB แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันก็มีการผลิตอย่างมากก็เพียงแค่ขนาด 1GB เท่านั้น และความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลนั้นช้ากว่า xD Card ขนาดความจุ 512MB

การ์ดหน่วยความจำชนิดอื่นที่เป็นคู่แข่งสำคัญของ xD Card ก็คือ SD Card, CompactFlash Card และ Memory Stick ซึ่ง xD Card นั้นมีจุดเด่นคือมีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการ์ดหน่วยความจำประเภทอื่น ,มีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับการ์ดหน่วยความจำประเภทอื่น และถ้าหากเป็น xD Card ยี่ห้อ Olympus ก็สามารถนำไปใช้งานกับฟังก์ชันการถ่ายภาพแบบพาโนรามา (Panorama Function) ของกล้องดิจิตอลยี่ห้อ Olympus ส่วนใหญ่ได้อีกด้วย ส่วนจุดด้อยของ xD Card นั้นก็มีอยู่เช่นกัน ตั้งแต่เรื่องของขนาดความจุสูงสุดที่น้อยเมื่อเทียบกับการ์ดหน่วยความจำประเภทอื่น, มีขนาดความจุสูงสุดทางทฤษฎีที่น้อยเมื่อเทียบกับการ์ดหน่วยความจำประเภทอื่น, มีราคาที่แพงเมื่อเทียบกับการ์ดหน่วยความจำประเภทอื่น และความแพร่หลายในการใช้งานหรือ อุปกรณ์ที่ผลิตออกมารองรับ เช่นกล้องดิจิตอล หรืออุปกรณ์ต่างๆ ยังน้อยกว่าการ์ดหน่วยความจำประเภทอื่น ด้วยเหตุที่การใช้งานกับอุปกรณ์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่กล้องดิจิตอลนั้นไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ในปี ค.ศ.2005 การ์ดหน่วยความจำแบบ SD Card จึงเริ่มเข้ามาแทนที่ xD Card เนื่องจาก SD Card นั้นมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายกับอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องพีดีเอ, เครื่องเล่นเพลง หรือแม้กระทั่งกล้องดิจิตอลจำนวนมากมายหลากหลายรุ่นและยี่ห้อ

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ xD Card

- ขนาด 20 x 25 x 1.78 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 2 กรัม
- มีขนาดความจุตั้งแต่ 16, 32, 64, 128, 256, 512MB และ 1GB (Type M)
- มีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลอยู่ที่ 5Mbps และ 1.3Mbps ตามลำดับ (สำหรับขนาดความจุ 16 และ 32MB)
- มีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลอยู่ที่ 5Mbps และ 3Mbps ตามลำดับ (สำหรับขนาดความจุ 64, 128, 256 และ 512MB)
- มีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลอยู่ที่ 4Mbps และ 2.5Mbps ตามลำดับ (สำหรับขนาดความจุ 1 GB)
- ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ MLC (Multi Level Cell) จึงทำให้ทางทฤษฎีสามารถขยายขนาดความจุได้มากสูงสุดถึง 8 GB (จากเดิมที่มีขนาดสูงสุดได้เพียง 512MB)
- มีพื้นฐานของเทคโนโลยีการผลิตแบบ NAND-type Flash
- มีการรักษาความปลอดภัยด้วย ID Protection Function
- อุณหภูมิที่สามารถทำงานได้ 0 ถึง 55 องศาเซลเซียส
- อุณหภูมิที่สามารถบันทึกข้อมูลไว้ได้ -20 ถึง 65 องศาเซลเซียส
- ใช้แรงดันไฟขนาด 3.3 โวลต์
- ป้องกันความชื้นได้ 95%
- มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานต่ำเพียง 25mW


CompactFlash Card (CF Card)



ข้อมูลทั่วไปของ CompactFlash Card

CompactFlash Card หรือ CF Card ถูกพัฒนาและผลิตขึ้นครั้งแรกโดย บริษัท SanDisk ในปี ค.ศ.1994 ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 แบบหลักคือ Type I และ Type II โดย Type I จะมีความหนาน้อยกว่า Type II เล็กน้อย และอีกไม่นานก็จะมี Type III ผลิตออกมาด้วย สำหรับความเร็วในการทำงานนั้น ก็มีตั้งแต่ความเร็วมาตรฐานเริ่มแรก, ความเร็วแบบ High Speed (CF+ หรือ CF2.0) และความเร็วตามมาตรฐาน CF3.0 ซึ่งถูกนำมาใช้ในปี ค.ศ.2005 และสำหรับสล็อตแบบ CF Type II นั้นสามารถนำหน่วยความจำแบบ Microdrive หรืออุปกรณ์อื่นๆ บางอย่างมาใส่ได้ด้วย

CompactFlash Card นั้นเป็นการ์ดหน่วยความจำประเภทหนึ่งที่ถูกผลิตใช้งานมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของหน่วยความจำประเภท Flash Memory จึงถือว่าเป็นการ์ดหน่วยความจำชนิดหนึ่งที่มมีประวัติความเป็นมายาวนานที่สุด และก็ยังถือว่าเป็นการ์ดหน่วยความจำชนิดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งในช่วงแรกนั้น CompactFlash ถูกผลิตด้วยพื้นฐานแบบ Intel's NOR-based แม้ว่าในขั้นตอนสุดท้ายจะมีการสลับเปลี่ยนมาใช้พื้นฐานแบบ NAND ก็ตาม

CompactFlash Card นั้นมักจะถูกนำมาใช้กับกล้องดิจิตอลระดับมืออาชีพมากเป็นพิเศษ และมีจุดเด่นในเรื่องของราคาที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับขนาดความจุที่ได้มา และเมื่อเทียบกับการ์ดหน่วยความจำประเภทอื่นๆ ในเรื่องของอายุการใช้งาน และโดยทั่วไป CompactFlash Card นั้นจะเน้นในเรื่องของขนาดความจุมากกว่าขนาดรูปร่างของตัวมันเอง นอกจากนั้น CompactFlash Card ยังสามารถนำมาใช้งานได้โดยตรงกับสล็อตของ PC Card หรือ PCMCIA Card ด้วยตัว Adapter และถึงแม้ว่าขนาดของ CompactFlash นั้นจะใหญ่กว่าการ์ดหน่วยความจำประเภทอื่นๆ แต่ก็สามารถทำให้ผู้ใช้งานประทับใจกับจุดนี้ได้ เนื่องจากส่งผลให้การ์ดหน่วยความจำประเภทอื่นๆ หลายประเภทสามารถนำมาใส่กับสล็อตของ CompactFlash ได้โดยตรงด้วยการใช้ตัว Adapter ไม่ว่าจะเป็น SD Card, MMC Card, Memory Stick, xD Card (ในสล็อตแบบ Type I) และ SmartMedia Card (ในสล็อตแบบ Type II)

ขนาดมิติของ CompactFlash Card นั้น จะมีความกว้าง 43 มิลลิเมตร, สูง 36 มิลลิเมตร และมีความหนาอยู่ 2 ระดับคือ 3.3 มิลลิเมตร (Type I) และ 5 มิลลิเมตร (Type II) ซึ่ง CompactFlash Type I สามารถนำไปใส่ในสล็อตของ CompactFlash Type II ได้ แต่ CompactFlash Type II นั้นมีความหนามากกว่าเกินที่จะนำไปใส่ในสล็อตของ CompactFlash Type I ได้ ดังนั้นการ์ดหน่วยความจำประเภท Flash Memory จึงมักจะอ้างอิงกับความหนาของ CompactFlash Type I เป็นหลัก ในยุคแรกๆ นั้นการ์ดหน่วยความจำแบบ SmartMedia Card ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงของ CompactFlash Card ในสมัยนั้น ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่า แต่ในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ.2002-2005 ด้วยปัญหาและจุดอ่อนบางประการ และมีการ์ดหน่วยความจำชนิดใหม่ๆ ที่ดีกว่าหลายชนิดถูกพัฒนาขึ้นมา จึงทำให้ SmartMedia Card นั้นได้รับความนิยมน้อยลงมาก จนต้องยกเลิกสายการผลิตลงในที่สุด

และแม้ว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จะมีการ์ดหน่วยความจำชนิดใหม่ๆ ที่มีขนาดที่เล็กกว่า ไม่ว่าจะเป็น SD Card, MMC Card, Memory Stick, xD Card หรืออื่นๆ และมีการนำไปใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากกว่า โดยเฉพาะกับอุปกรณ์พกพาที่มีขนาดเล็ก เช่น เครื่องพีดีเอ, โทรศัพท์มือถือ หรือกล้องดิจิตอลขนาดเล็ก แต่ CompactFlash ก็ยังถูกนำมาใช้งานกับอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ไม่น้อย เช่นกล้องดิจิตอลระดับมืออาชีพ ทั้งนี้ก็เนื่องจากจุดเด่นสำคัญของ CompactFlash นั่นคือมีราคาต่อขนาดความจุที่คุ้มค่ามากกว่าการ์ดหน่วยความจำชนิดอื่น รวมทั้งจุดเด่นในการที่สล็อตของ CompactFlash นั้น สามารถนำการ์ดหน่วยความจำชนิดอื่นๆ หลายประเภทมาใส่ได้โดยตรงผ่านตัว Adapter นั่นเอง และถ้าหากเป็นสล็อตแบบ CompactFlash Type II ก็ยังสามารถที่จะนำ MicroDrive ซึ่งก็คือ Hard Disk ขนาดเล็กมาใส่ได้โดยตรงอีกด้วย

มาตรฐานใหม่ของ CompactFlash ก็คือ CF+ หรือเรียกอีกอย่างว่า CF2.0 ซึ่งมีการพัฒนา 2 ส่วนหลักให้ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างแรกก็คือการเพิ่มความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลเป็น 16Mbyte ต่อวินาที และอย่างที่สองก็คือสามารถมีขนาดความจุได้มากถึง 137 GB และสำหรับในอนาคต ก็กำลังจะมีมาตรฐานใหม่เข้ามาอีก นั่นคือมาตรฐาน CF3.0 ซึ่งมีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลสูงสุดถึง 66Mbyte ต่อวินาที เป็นต้น

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ CompactFlash Card

- ขนาด 36.4 x 42.8 x 3.3 มิลลิเมตร (1.43 x 1.68 x 0.13 นิ้ว : Type I)
- ขนาด 36.4 x 42.8 x 5 มิลลิเมตร (Type II)
- น้ำหนัก 11.4 กรัม
- ระดับแรงดันไฟ 3.3โวลต์ และ 5โวลต์
- อุณหภูมิที่สามารถทำงานได้ 0 ถึง 70 องศาเซลเซียส (32 ถึง 158 องศาฟาเรนไฮต์)
- จำนวนรอบของการถอดเข้าถอดออก 10,000 รอบ
- เทคโนโลยี Defect Management และ Error Correction ในตัว
- ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูล 6Mbyte ต่อวินาที
- ATA Interface ในตัว
- รองรับมาตรฐาน PCMCIA-ATA
- สล็อตแบบ CompactFlash Type II สามารถรองรับการใช้งานกับ MicroDrive ได้ (Hard Disk ขนาดเล็ก)
- โหมดการทำงานแบบ Autosleep Mode ช่วยประหยัดพลังงานของแบตเตอรี่
- สามารถเก็บบันทึกข้อมูลไว้ได้นาน 10 ปี


MMC Card (MultiMediaCard)



ข้อมูลทั่วไปของ MMC Card

MMC Card หรือ MultiMediaCard นั้นถูกนำเสนอสู่สาธารณะชนครั้งแรกในปี ค.ศ.1997 โดย บริษัท Siemens AG และ SanDisk ซึ่งมีพื้นฐานการทำงานอยู่บน NAND-based Flash Memory ซึ่ง MMC Card นั้นมีขนาดที่เล็กว่าการ์ดหน่วยความจำที่มีพื้นฐานการทำงานอยู่บน Intel NOR-based เช่น CompactFlash Card ขนาดของ MMC Card นั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับสแตมป์ไปรษณีย์ โดยมีความยาว 32 มิลลิเมตร, กว้าง 24 มิลลิเมตร และหนา 1.4 มิลลิเมตร ในยุคแรก MMC Card นั้นใช้ Interface ในการโอนถ่ายข้อมูลแบบ 1-bit Serial แต่ต่อมาในเวอร์ชันใหม่ จะสามารถโอนถ่ายข้อมูลได้ 4 bits หรือ 8 bits ในเวลาเดียวกัน

MMC Card นั้นมีความเป็นไปได้ว่าจะถูกแทนที่ด้วยการ์ดหน่วยความจำแบบ SD Card ในไม่ช้า แต่ที่ยังคงมีการใช้งาน MMC Card กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ก็เนื่องจาก MMC Card นั้นสามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่รองรับ SD Card ได้ด้วย โดยอุปกรณ์ที่นำ MMC Card ไปใช้งานนั้นก็มักจะเป็นอุปกรณ์พกพาขนาดเล็กต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ, เครื่องพีดีเอ, เครื่องเล่นเพลง MP3 หรือกล้องดิจิตอล ซึ่งในปัจจุบันขนาดความจุสูงสุดของ MMC Card ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปแล้วนั้นจะอยู่ที่ 2GB

จากที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ อุปกรณ์ใดที่มีสล็อตของ SD Card ก็มักจะสามารถนำ MMC Card มาใส่ได้โดยปริยาย เนื่องจากความกว้างและยาวของ MMC Card นั้นเท่ากันกับ SD Card รวมถึงมีขาขั้วต่อ (Pins) รูปแบบเดียวกัน เพียงแต่ MMC Card จะมีความหนาที่น้อยกว่า SD Card อยู่เล็กน้อย แต่ในทางกลับกัน อุปกรณ์ใดที่มีสล็อตขนาดความหนาเท่ากับ MMC Card พอดี จะไม่สามารถนำ SD Card มาใส่ได้ เนื่องจาก SD Card มีความหนาเกินกว่าที่จะนำมาใส่ได้นั่นเอง และสำหรับ โทรศัพท์มือถือ นั้น บริษัทผู้ผลิตที่เริ่มนำเอา MMC Card มาใช้กับ โทรศัพท์มือถือ ก็คือ บริษัท Nokia และ Ericsson โดยได้มีการร่วมมือกันกับ บริษัทผลิตการ์ดหน่วยความจำชั้นนำอย่าง SanDisk โดยที่ผ่านมา MMC Card นั้นถือว่าเป็นการ์ดหน่วยความจำประเภทที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดชนิดหนึ่งสำหรับ โทรศัพท์มือถือ ก็ว่าได้ เนื่องจากหาซื้อได้ง่ายและมีราคาที่ไม่แพง แต่อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้า MMC Card คงจะค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยการ์ดหน่วยความจำชนิดใหม่ๆ เช่นการ์ดหน่วยความจำที่พัฒนาต่อมาจาก MMC Card เองอย่าง RS-MMC Card หรือ DV RS-MMC Card เป็นต้น ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่ต่างจาก MMC Card ปกติหรือดีกว่า และยังมีขนาดที่เล็กกว่าถึงครึ่งหนึ่งอีกด้วย

มาตรฐานใหม่ของ MMC Card คือมาตรฐาน MultiMediaCard เวอร์ชัน 4.x เช่น 4.0 หรือ 4.1 ซึ่งเรียกว่า MMCplus และ MMCmobile โดยจะมีจำนวนขาขั้วต่อ (Pins) ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า MMC Card แบบเดิม มีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น มีอัตราการโอนถ่ายข้อมูลที่เพิ่มขึ้น มีการทำงานที่เร็วขึ้น โดยมีความกว้างของ Bus หรือ Bandwidth สูงสุดที่ 8 bits สำหรับความแตกต่างของ MMCplus กับ MMCmobile นั้นจะแตกต่างกันที่ขนาด โดย MMCplus นั้นจะมีขนาดกว้างยาวเท่ากับ MMC Card ปกติ แต่ถ้าเป็น MMCmobile จะมีขนาดกว้างยาวเพียงครึ่งหนึ่งของ MMC Card ปกติหรือเท่ากับ RS-MMC Card นั่นเอง และเทคโนโลยีใหม่อีกอย่างของ MMC Card ก็คือ secureMMC ซึ่งมีคุณสมบัติการเข้ารหัส (Encryption) ที่เหมือนกันกับ SD Card หรือ Memory Stick (MagicGate) จึงทำให้มีความปลอดภัยของข้อมูลเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ MMC Card

- ขนาด 24 x 32 x 1.4 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 1.5 กรัม
- ขั้วต่อ (Pins) แบบ 7-Pins (MMC) และ 13-Pins (MMCplus)
- ระดับแรงดันไฟ 3.3โวลต์
- อุณหภฺมิที่สามารถทำงานได้ -25 ถึง 85 องศาเซลเซียส (-13 ถึง 185 องศาฟาเรนไฮต์)
- อุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -40 ถึง 85 องศาเซลเซียส
- ค่า Shock Resistance 1000 G (เท่ากับการปล่อยลงสู่พื้นจากระดับความสูง 5 ฟุต)
- จำนวนรอบของการถอดเข้าถอดออก 10,000 รอบ
- อัตราความเร็วในการอ่านข้อมูลสูงสุด 11MB ต่อวินาที (MMCplus)
- อัตราความเร็วในการเขียนข้อมูลสูงสุด 7MB ต่อวินาที (MMCplus)
- Bandwidth ในการโอนถ่ายข้อมูล (Transfer Bandwidth : Bus Widths) 1 bit, 4 bits และ 8 bits (MMCplus)
- จำนวนรอบในการลบข้อมูล 100,000 รอบ ต่อ 1 Block
- ในปัจจุบันมีขนาดความจุให้เลือกใช้ตั้งแต่ 32, 64, 128, 256, 512MB, 1GB และ 2GB


[size=18RS-MMC Card (Reduced Size MultiMediaCard)[/size]



ข้อมูลทั่วไปของ RS-MMC Card

RS-MMC Card นั้นเป็นการ์ดหน่วยความจำที่พัฒนาขึ้นมาด้วยพื้นฐานของ MMC Card และมีคุณสมบัติโดยรวมที่ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่มีขนาดที่เล็กลงประมาณครึ่งหนึ่งของ MMC Card ในทางยาว นั่นคือมีความยาวลดลงเหลือ 16 มิลลิเมตร ในขณะที่ MMC Card มีความยาว 32 มิลลิเมตร แต่ก็ยังมีความกว้างขนาด 24 มิลลิเมตร และความหนาขนาด 1.4 มิลลิเมตร เท่าเดิม ซึ่ง RS-MMC Card นั้นนำมาใช้กับ โทรศัพท์มือถือ โนเกีย 7610 เป็นรุ่นแรก ราคาจำหน่ายในช่วงแรกนั้นค่อนข้างสูงกว่า MMC Card มาก แต่ในปัจจุบันราคาของการ์ดหน่วยความจำทั้งสองแบบนี้ใกล้เคียงกันแล้ว เนื่องจาก RS-MMC Card มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น โทรศัพท์มือถือ หลายรุ่นหลายยี่ห้อต่างก็หันมาใช้ RS-MMC Card แทนที่จะเลือกใช้ MMC Card และในอนาคตคาดว่าจะเข้ามาแทนที่ MMC Card ในที่สุด

ในการใช้งานนั้น ปกติ RS-MMC Card สามารถนำไปใช้แทน MMC Card ได้ทันที เนื่องจากปกติเมื่อซื้อ RS-MMC Card มา ก็มักจะมีตัวแปลงให้มีขนาดเท่ากับ MMC Card (MMC Adapter) มาให้ด้วย ดังนั้นอุปกรณ์ใดที่รองรับ MMC Card ก็จะสามารถนำ RS-MMC Card มาใช้งานได้ด้วยโดยปริยาย ส่วน RS-MMC Card รุ่นใหม่ที่เรียกว่า MMCmobile นั้นสังเกตได้ไม่ยาก โดยให้สังเกตที่ขาขั้วต่อจะมีอยู่ 13-Pins ในขณะที่ RS-MMC Card จะมีเพียง 7-Pins ซึ่ง MMCmobile จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากเดิมดังที่กล่าวไว้ในส่วนของ MMC Card ข้างต้น

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ RS-MMC Card

- ขนาด 24 x 16 x 1.4 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 1.0 กรัม
- ขั้วต่อ (Pins) แบบ 7-Pins (RS-MMC) หรือ 13-Pins (MMCmobile)
- ระดับแรงดันไฟ 3.3โวลต์ (RS-MMC) หรือ 1.8/3.3โวลต์ (MMCmobile)
- อุณหภฺมิที่สามารถทำงานได้ -25 ถึง 85 องศาเซลเซียส (-13 ถึง 185 องศาฟาเรนไฮต์)
- อุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -40 ถึง 85 องศาเซลเซียส
- ค่า Shock Resistance 1000 G (เท่ากับการปล่อยลงสู่พื้นจากระดับความสูง 5 ฟุต)
- จำนวนรอบของการถอดเข้าถอดออก 10,000 รอบ
- อัตราความเร็วในการอ่านข้อมูลสูงสุด 1.75MB ต่อวินาที (RS-MMC) หรือ 8MB ต่อวินาที (MMCmobile)
- อัตราความเร็วในการเขียนข้อมูลสูงสุด 1.65MB ต่อวินาที (RS-MMC) หรือ 7MB ต่อวินาที (MMCmobile)
- Bandwidth ในการโอนถ่ายข้อมูล (Transfer Bandwidth : Bus Widths) 1 bit, 4 bits และ 8 bits (MMCmobile)
- จำนวนรอบในการลบข้อมูล 100,000 รอบ ต่อ 1 Block
- ในปัจจุบันมีขนาดความจุให้เลือกใช้ตั้งแต่ 32, 64, 128, 256, 512MB และ 1GB


DV RS-MMC Card (Dual Voltage Reduced Size MultiMediaCard)



ข้อมูลทั่วไปของ DV RS-MMC Card

DV RS-MMC Card หรือ Dual Voltage Reduced Size MultiMediaCard นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาจากพื้นฐานของการ์ดหน่วยความจำแบบ RS-MMC Card และมีขนาดเท่ากันทุกประการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อที่จะให้ตัวการ์ดสามารถใช้แรงดันไฟได้ 2 ระดับ คือ 1.8โวลต์ และ 3.3โวลต์ จึงทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากขึ้นกว่าเดิม โดย โทรศัพท์มือถือ รุ่นแรกที่นำ DV RS-MMC Card มาใช้ก็คือ โนเกีย 6630 และต่อมาหลังจากนั้น โทรศัพท์มือถือ ตระกูล Symbian Smart Phone Series 60 UI ของ โนเกีย อีกหลายรุ่น ก็มีการพัฒนาให้รองรับ DV RS-MMC Card เช่น โนเกีย 6681, 6680, N70 หรือ N90 เป็นต้น รวมถึงรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวอีกหลายรุ่น ซึ่งถ้าหาก โทรศัพท์มือถือ รุ่นใดที่ระบุว่าต้องใช้การ์ดหน่วยความจำแบบ DV RS-MMC Card ก็จะไม่สามารถนำ RS-MMC Card แบบธรรมดามาใช้ได้ เนื่องจาก โทรศัพท์มือถือ เหล่านี้มีแรงดันไฟสำหรับการ์ดหน่วยความจำเพียง 1.8โวลต์ เท่านั้น ในขณะที่ RS-MMC Card ธรรมดาจะใช้แรงดันไฟมากถึง 3.3โวลต์

ในช่วงแรกของการวางจำหน่ายนั้น DV RS-MMC Card ยังมีราคาที่สูงกว่า MMC Card หรือ RS-MMC Card อยู่อย่างมาก นั่นคือแพงกว่าเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว แต่เมื่อเริ่มมีการใช้งานแพร่หลาย และมี โทรศัพท์มือถือ รุ่นใหม่ๆ ออกมารองรับมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน DV RS-MMC Card นั้นก็ลดระดับราคาลงมาจนแทบจะไม่แตกต่างกับ RS-MMC Card แล้ว ส่วนการ์ดหน่วยความจำแบบ MMCmobile ซึ่งเป็น RS-MMC Card แบบใหม่นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการ์ดหน่วยความจำแบบ DV RS-MMC Card ด้วยเช่นกัน เนื่องจากสามารถใช้แรงดันไฟได้ 2 ระดับ คือ 1.8โวลต์ และ 3.3โวลต์ ได้เหมือนกันกับ DV RS-MMC Card นั่นเอง สุดท้ายแล้วจึงอาจจะสรุปได้ว่า MMCmobile เป็นการ์ดหน่วยความจำที่จะเข้ามาแทนที่ทั้ง RS-MMC Card และ DV RS-MMC Card ทั้งคู่ไปโดยปริยาย

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ DV RS-MMC Card

- ขนาด 24 x 16 x 1.4 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 1.0 กรัม
- ขั้วต่อ (Pins) แบบ 7-Pins หรือ 13-Pins (MMCmobile)
- รองรับการใช้งานกับแรงดันไฟ 2 ระดับ คือ1.8โวลต์ และ 3.3โวลต์
- อุณหภฺมิที่สามารถทำงานได้ -25 ถึง 85 องศาเซลเซียส (-13 ถึง 185 องศาฟาเรนไฮต์)
- อุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -40 ถึง 85 องศาเซลเซียส
- ค่า Shock Resistance 1000 G (เท่ากับการปล่อยลงสู่พื้นจากระดับความสูง 5 ฟุต)
- จำนวนรอบของการถอดเข้าถอดออก 10,000 รอบ
- อัตราความเร็วในการอ่านข้อมูลสูงสุด 1.75MB ต่อวินาที หรือ 8MB ต่อวินาที (MMCmobile)
- อัตราความเร็วในการเขียนข้อมูลสูงสุด 1.65MB ต่อวินาที หรือ 7MB ต่อวินาที (MMCmobile)
- Bandwidth ในการโอนถ่ายข้อมูล (Transfer Bandwidth : Bus Widths) 1 bit, 4 bits และ 8 bits (MMCmobile)
- จำนวนรอบในการลบข้อมูล 100,000 รอบ ต่อ 1 Block
- ในปัจจุบันมีขนาดความจุให้เลือกใช้ตั้งแต่ 128, 256 และ 512MB


MMCmicro Card (Micro MultiMediaCard)



ข้อมูลทั่วไปของ MMCmicro Card

MMCmicro Card เป็นพัฒนาการอีกขั้นของ MMC Card และ RS-MMC Card ซึ่งพัฒนาให้มีขนาดที่เล็กลง และใช้พลังงานน้อยลง โดย MMCmicro นั้นมีขนาดที่เล็กพอๆ กับปลายนิ้วมือเลยทีเดียว นั่นคือ มีความยาว 14 มิลลิเมตร, กว้าง 12 มิลลิเมตร และหนาเพียง 1.1 มิลลิเมตรเท่านั้น หรือมีขนาดเพียง 1 ใน 4 ของ MMC Card หรือมีขนาดเพียง 1 ใน 3 ของ RS-MMC Card เท่านั้น และ MMCmicro Card นี้ก็ยังมีคุณสมบัติการทำงานแบบ Dual Voltage ได้อีกด้วย นั่นคือสามารถทำงานได้ที่แรงดันไฟ 2 ระดับ ที่ 1.8โวลต์ และ 3.3โวลต์ ในการพัฒนาและทดสอบการใช้งานโดย บริษัท Samsung ซึ่งเป็นผู้คิดค้น MMCmicro ก็ได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ มีความน่าเชื่อถือสูงในเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมาตรฐานที่ Samsung นำมาใช้ในการพัฒนา MMCmicro นี้นั้น ก็คือมาตรฐาน MMCA หรือ MultiMediaCard Association

ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลของ MMCmicro นั้นอยู่ที่ 10Mbyte ต่อวินาที และความเร็วสูงสุดในการเขียนข้อมูลอยู่ที่ 7Mbyte ต่อวินาที นอกจากนั้นในเรื่องของความทนทานในการใช้งานก็อยู่ในระดับที่สูงด้วยเช่นกัน โดยมีการทดสอบลบข้อมูลและเขียนซ้ำอย่างน้อย 100,000 รอบ และยังมีคุณสมบัติของการกันน้ำ กันฝุ่น กันไฟกระชาก ทำงานได้ในสภาวะของอุณหภูมิที่ต่างกัน หรือในสภาวะใดๆ ที่อุปกรณ์พกพานั้นๆ ต้องเผชิญนั่นเอง MMCmicro นั้นถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อเอาไว้ใช้งานกับ โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์พกพาขนาดเล็กชนิดอื่นๆ ที่นับวันยิ่งต้องการขนาดที่กะทัดรัดมากขึ้น และสำหรับในปัจจุบันนั้นเริ่มมีการพัฒนา MMCmicro ออกมาจำหน่ายแล้วแต่ยังไม่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากนัก โดยมีขนาดความจุตั้งแต่ 32, 64, 128, 256 และ 512MB

การนำ MMCmicro ไปใช้งานนั้น ก็สามารถนำไปใช้ได้กับอุปกรณ์ใดๆ ที่มีสล็อตสำหรับ SD, MMC หรือ RS-MMC Card ได้อย่างไม่มีปัญหา โดยอาศัยตัว Adapter ในการแปลงขนาด ดังนั้น โทรศัพท์มือถือ, เครื่องเล่นเพลง, กล้องดิจิตอล, เครื่องพีดีเอ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่รองรับ SD, MMC หรือ RS-MMC Card ก็สามารถนำ MMCmicro ไปใส่ใช้งานได้ทันที

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ MMCmicro Card

- ขนาด 14 x 12 x 1.1 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 0.8 กรัม
- จำนวนขาขั้วต่อ (Pins) 10Pins
- ใช้งานกับแรงดันไฟได้ 2 ระดับ คือ 1.7-1.95โวลต์ และ 2.7-3.6โวลต์
- มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานที่น้อยกว่า 50mA
- ความเร็วสูงสุดของสัญญาณนาฬิกา 26MHz
- ความเร็วสูงสุดของการโอนถ่ายข้อมูล 12Mbyte ต่อวินาที
- ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูล 10Mbyte ต่อวินาที
- ความเร็วสูงสุดในการเขียนข้อมูล 7Mbyte ต่อวินาที
- ขนาดความจุในปัจจุบัน มีตั้งแต่ขนาด 32, 64, 128, 256 และ 512MB
- มีคุณสมบัติการป้องกันน้ำ
- มีคุณสมบัติการป้องกันฝุ่นละออง
- มีคุณสมบัติการป้องกันกระแสไฟกระชาก (Electrostatic Discharge)
- สามารถใช้งานได้ในสภาวะของอุณหภูมิผันผวน
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถทำงานได้ -25 ถึง 85 องศาเซลเซียส
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -40 ถึง 85 องศาเซลเซียส
- รองรับการทำงานในความชื้น 8 ถึง 95%
- ค่า Shock Resistance 1000 G (เท่ากับการปล่อยลงสู่พื้นจากระดับความสูง 5 ฟุต)
- ค่า Vibration Resistance 15 G
- ค่า MTBF (Mean Time Between Failures : ค่าเวลาโดยประมาณในกรณีที่ไม่เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน) 1,000,000 ชั่วโมง
- สามารถถอดการ์ดเข้าและถอดออกได้ไม่น้อยกว่า 20,000 รอบ
- สามารถ อ่าน, เขียน และลบข้อมูล ได้มากกว่า 100,000 รอบ
- เก็บรักษาข้อมูลไว้ได้นาน 10 ปี


Memory Stick



ข้อมูลทั่วไปของ Memory Stick

Memory Stick เป็นการ์ดหน่วยความจำที่ถูกพัฒนาขึ้นมาครั้งแรกใน เดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1998 โดย บริษัท Sony ซึ่งเน้นสำหรับการนำไปใช้งานกับอุปกรณ์ยี่ห้อ Sony โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ต้องพึ่งพาการ์ดหน่วยความจำ เช่น กล้องดิจิตอล, โทรศัพท์มือถือ (Sony Ericsson), เครื่องเล่นเพลง หรืออื่นๆ และ Memory Stick เป็นการ์ดหน่วยความจำที่ยังมีราคาสูงกว่าการ์ดหน่วยความจำชนิดอื่น แต่ก็มีจุดเด่นคือมีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่สูง และในเวลาไม่นานนัก ก็มีการพัฒนา Memory Stick แบบใหม่ขึ้นมาให้ใช้งานอีก เช่น Memory Stick Pro ซึ่งสามารถรองรับขนาดความจุข้อมูลที่เพิ่มขึ้นและมีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่สูงขึ้น หรือ Memory Stick Duo ที่พัฒนาให้มีขนาดเล็กลง เป็นต้น

Memory Stick นั้นถูกนำไปใช้กับอุปกรณ์สมัยใหม่มากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น กล้องดิจิตอล, เครื่องเล่นเพลง, เครื่องพีดีโอ, โทรศัพท์มือถือ, เครื่องเล่นเกมส์ PlayStation รวมถึงเครื่องโน็ตบุ๊คราคาแพงจากค่าย Sony ที่ใช้ชื่อว่า VAIO ที่มีสล็อตสำหรับใส่ Memory Stick อยู่ในตัว สำหรับขนาดความจุของ Memory Stick แบบธรรมดานั้นมีการผลิตออกมาสูงสุดเพียง 256MB (128MB x 2) เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามหากเป็น Memory Stick แบบใหม่ๆ เช่น Memory Stick Pro ก็จะมีขนาดความจุที่มากขึ้น ส่วนบริษัทที่ได้สิทธิ์ในการผลิต Memory Stick อย่างเป็นทางการนั้น ก็ได้แก่ บริษัท SanDisk และ Lexar

เทคโนโลยีหนึ่งที่นำมาใช้กับ Memory Stick นั่นก็คือเทคโนโลยี MagicGate ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันการก๊อปปี้ข้อมูล ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย บริษัท Sony ในปี ค.ศ.1999 มีหลักการทำงานคือทำการเข้ารหัสข้อมูล (Encrypting) ของอุปกรณ์ และใช้ชิป MagicGate ทั้งในส่วนของตัวเก็บข้อมูล และตัวอ่านข้อมูล เพื่อตัดสินใจควบคุมบังคับกระบวนการคัดลอกไฟล์หรือก๊อปปี้ไฟล์ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร เทคโนโลยี MagicGate นั้นถูกนำมาใช้กับเครื่องเล่นเกมส์ PlayStation 2 ในปี ค.ศ.2004 และอุปกรณ์รุ่นใหม่ก็พัฒนาให้สามารถรองรับเทคโนโลยีนี้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ Memory Stick

- ขนาด 50 x 21.5 x 2.8 มิลลิเมตร (1.97 x 0.85 x 0.11 นิ้ว)
- น้ำหนัก 4 กรัม
- ปริมาตร 3,010 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- จำนวนขาขั้วต่อ (Pins) 10Pins
- เทคโนโลยีการผลิตแบบ NAND Flash
- ระดับแรงดันไฟที่ใช้ 2.7-3.6โวลต์
- ระดับความสิ้นเปลืองของพลังงานขณะใช้งาน 45mA
- ระดับความสิ้นเปลืองของพลังงานขณะอยู่ในสถานะ Standby 130ไมโครแอมแปร์
- ความเร็วสูงสุดของสัญญาณนาฬิกา 20MHz
- ความเร็วสูงสุดในการเขียนข้อมูล 1.8Mbyte ต่อวินาที (14.4Mbit ต่อวินาที)
- ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูล 2.5Mbyte ต่อวินาที (19.6Mbit ต่อวินาที)
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถทำงานได้ -5 ถึง 65 องศาเซลเซียส
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -40 ถึง 100 องศาเซลเซียส
- ค่า Shock Resistance 150 G (ที่ 10ms)
- ค่า Vibration Resistance 15 G
- รองรับการทำงานในความชื้น 95%
- ขนาดความจุ มีตั้งแต่ 16, 32, 64, 128 และ 256MB
- เทคโนโลยี MagicGate ช่วยป้องกันการคัดลอกข้อมูล
- สวิตช์สำหรับการป้องกันการเขียนทับข้อมูล


Memory Stick PRO



ข้อมูลทั่วไปของ Memory Stick PRO

Memory Stick PRO นั้นเป็นพัฒนาการที่สืบเนื่องต่อมาจาก Memory Stick โดยมีการพัฒนา 2 เรื่องหลักคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการขยายขนาดความจุให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และพัฒนาให้มีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่ง Memory Stick PRO ตามทฤษฎี สามารถขยายขนาดความจุสูงสุดได้มากถึง 32GB แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันความจุสูงสุดที่มีอยู่ ยังอยู่ที่ 4GB เท่านั้น ส่วนเรื่องของขนาดของการ์ดนั้น ยังคงมีขนาดที่เท่ากันกับ Memory Stick ปกติทุกประการ

สำหรับ Memory Stick PRO ที่มีขนาดความจุตั้งแต่ 1GB ขึ้นไป จะมีโหมดการทำงานที่เรียกว่า High Speed Mode ซึ่งจะช่วยให้ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลเร็วยิ่งขึ้นไปอีก แต่อุปกรณ์รุ่นเก่าๆ บางอย่าง ก็ไม่สามารถใช้งาน High Speed Mode นี้ได้ นอกจากนั้นก็ยังมีเทคโนโลยี MagicGate ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันการคัดลอกข้อมูลใส่มาให้ด้วย และหากเปรียบเทียบกันที่ขนาดความจุเดียวกัน Memory Stick PRO นั้นก็ยังคงมีราคาที่แพงกว่าการ์ดหน่วยความจำประเภทอื่นๆ อยู่มากพอสมควร ส่วนการนำ Memory Stick PRO ไปใช้งานนั้น ผู้ใช้ควรจะต้องตรวจสอบก่อนว่า อุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ด้วยนั้น สามารถรองรับการใช้งานกับ Memory Stick PRO ได้หรือไม่

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ Memory Stick PRO

- ขนาด 50 x 21.5 x 2.8 มิลลิเมตร (1.97 x 0.85 x 0.11 นิ้ว)
- น้ำหนัก 4 กรัม
- ปริมาตร 3,010 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- จำนวนขาขั้วต่อ (Pins) 10Pins
- เทคโนโลยีการผลิตแบบ NAND Flash
- ระดับแรงดันไฟที่ใช้ 2.7-3.6โวลต์
- ระดับความสิ้นเปลืองของพลังงานขณะใช้งาน 45mA
- ระดับความสิ้นเปลืองของพลังงานขณะอยู่ในสถานะ Standby 130ไมโครแอมแปร์
- ความเร็วสูงสุดในการถ่ายโอนข้อมูล 20MByte ต่อวินาที (160Mbit ต่อวินาที)
- ความเร็วสูงสุดในการเขียนข้อมูล 1.8Mbyte ต่อวินาที (14.4Mbit ต่อวินาที)
- ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูล 2.45Mbyte ต่อวินาที (19.6Mbit ต่อวินาที)
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถทำงานได้ -5 ถึง 65 องศาเซลเซียส
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -40 ถึง 100 องศาเซลเซียส
- ค่า Shock Resistance 150 G (ที่ 10ms)
- ค่า Vibration Resistance 15 G
- รองรับการทำงานในความชื้น 95%
- ขนาดความจุ มีตั้งแต่ 128, 256, 512MB และ 1, 2, 4GB
- มีระบบการรักษาความปลอดภัยแบบ SDMI (Security Digital Music Initiative)
- เทคโนโลยี MagicGate ช่วยป้องกันการคัดลอกข้อมูล
- สวิตช์สำหรับการป้องกันการเขียนทับข้อมูล


Memory Stick Duo



ข้อมูลทั่วไปของ Memory Stick Duo

Memory Stick Duo เป็นการ์ดหน่วยความจำที่มีขนาดเล็กลงกว่า Memory Stick ปกติ และมีขนาดที่เล็กกว่า SD Card เล็กน้อย จุดประสงค์ที่ทาง บริษัท Sony พัฒนา Memory Stick Duo นี้ขึ้นมาก็เพราะต้องการการ์ดหน่วยความจำที่มีขนาดเล็กลงกว่า Memory Stick ปกติ เพื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์พกพาต่างๆ ที่นับวันจะยิ่งมีขนาดเล็กมากขึ้น และ Memory Stick ปกติ ดูจะมีขนาดที่ใหญ่เกินไปสำหรับอุปกรณ์เหล่านั้น เช่น กล้องดิจิตอลขนาดพกพา หรือ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น และยังรวมถึงเครื่องเล่นเกมส์พกพาของ Sony อย่างเครื่อง PSP (PlayStation Portable) อีกด้วยที่จำเป็นต้องใช้การ์ดหน่วยความจำชนิดนี้

สำหรับคุณสมบัติหรือประสิทธิภาพโดยทั่วไปนั้น ก็จะเหมือนกันกับ Memory Stick รุ่นปกติ แทบทุกประการ ยกเว้นเรื่องของรูปร่างที่เล็กกว่านั่นเอง และถ้าหากจะนำ Memory Stick Duo ไปใส่ใช้งานในสล็อตของ Memory Stick ขนาดปกติ ก็สามารถทำได้ โดยใช้ Memory Stick Duo Adapter เพื่อแปลง Memory Stick Duo ให้มีขนาดเท่ากันกับ Memory Stick ปกติ และสำหรับเทคโนโลยี MagicGate ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำหรับป้องกันการคัดลอกข้อมูลนั้น ก็มีใส่มาให้เช่นเดียวกัน

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ Memory Stick Duo

- ขนาด 31 x 20 x 1.6 มิลลิเมตร (1.22 x 0.79 x 0.6 นิ้ว)
- น้ำหนัก 2 กรัม (ไม่ใส่ Adapter)
- น้ำหนัก 4 กรัม (ใส่ Adapter)
- ปริมาตร 992 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- จำนวนขาขั้วต่อ (Pins) 10Pins
- เทคโนโลยีการผลิตแบบ NAND Flash
- ระดับแรงดันไฟที่ใช้ 2.7-3.6โวลต์
- ระดับความสิ้นเปลืองของพลังงานขณะใช้งาน 45mA
- ระดับความสิ้นเปลืองของพลังงานขณะอยู่ในสถานะ Standby 130ไมโครแอมแปร์
- ความเร็วสูงสุดของสัญญาณนาฬิกา 20MHz
- ความเร็วสูงสุดในการเขียนข้อมูล 1.8Mbyte ต่อวินาที (14.4Mbit ต่อวินาที)
- ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูล 2.5Mbyte ต่อวินาที (19.6Mbit ต่อวินาที)
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถทำงานได้ -5 ถึง 65 องศาเซลเซียส
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -40 ถึง 100 องศาเซลเซียส
- ค่า Shock Resistance 150 G (ที่ 10ms)
- ค่า Vibration Resistance 15 G
- รองรับการทำงานในความชื้น 95%
- ขนาดความจุ มีตั้งแต่ 32, 64 และ 128MB
- เทคโนโลยี MagicGate ช่วยป้องกันการคัดลอกข้อมูล
- สวิตช์สำหรับการป้องกันการเขียนทับข้อมูล


Memory Stick PRO Duo



ข้อมูลทั่วไปของ Memory Stick PRO Duo

Memory Stick PRO Duo นั้นถือว่าเป็นการ์ดหน่วยความจำที่ผสมผสานกันระหว่างจุดเด่นของความเป็น Memory Stick Duo คือมีขนาดที่เล็กลง ซึ่งขนาดตัวการ์ดนั้นเท่ากันกับ Memory Stick Duo ทุกประการ และความเป็น Memory Stick PRO คือสามารถขยายขนาดความจุได้มากขึ้น และมีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการ์ดหน่วยความจำในตระกูล Memory Stick ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในเวลานี้ก็ว่าได้ แต่ในเรื่องของราคานั้น ก็แน่นอนว่าย่อมสูงกว่าตามไปด้วย

สำหรับคุณสมบัติและประสิทธิภาพโดยทั่วไปนั้น จะเหมือนกันกับ Memory Stick PRO ทุกประการ ยกเว้นในเรื่องของรูปร่างเท่านั้น โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับ Memory Stick PRO ก็จะมีอยู่ใน Memory Stick PRO Duo ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโหมดการทำงานแบบ High Speed ที่ช่วยให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น หรือเทคโนโลยี MagicGate ที่ช่วยป้องกันการคัดลอกข้อมูล ส่วนการนำไปใช้งานนั้น หากเป็นสล็อตที่มีขนาดเท่ากันกับ Memory Stick ปกติ ก็สามารถนำไปใส่ใช้งานได้ โดยใช้ตัว Memory Stick Duo Adapter เช่นเดียวกันกับ Memory Stick Duo และในทำนองเดียวกันกับ Memory Stick PRO คือก่อนที่จะนำ Memory Stick PRO Duo ไปใช้กับอุปกรณ์ใด ก็ควรจะทราบก่อนด้วยว่า อุปกรณ์ชิ้นนั้นสามารถรองรับการใช้งาน Memory Stick PRO Duo ได้หรือไม่

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ Memory Stick PRO Duo

- ขนาด 31 x 20 x 1.6 มิลลิเมตร (1.22 x 0.79 x 0.6 นิ้ว)
- น้ำหนัก 2 กรัม (ไม่ใส่ Adapter)
- น้ำหนัก 4 กรัม (ใส่ Adapter)
- ปริมาตร 992 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- จำนวนขาขั้วต่อ (Pins) 10Pins
- เทคโนโลยีการผลิตแบบ NAND Flash
- ระดับแรงดันไฟที่ใช้ 2.7-3.6โวลต์
- ระดับความสิ้นเปลืองของพลังงานขณะใช้งาน 45mA
- ระดับความสิ้นเปลืองของพลังงานขณะอยู่ในสถานะ Standby 130ไมโครแอมแปร์
- ความเร็วสูงสุดในการถ่ายโอนข้อมูล 20MByte ต่อวินาที (160Mbit ต่อวินาที)
- ความเร็วสูงสุดในการเขียนข้อมูล 1.8Mbyte ต่อวินาที (14.4Mbit ต่อวินาที)
- ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูล 2.45Mbyte ต่อวินาที (19.6Mbit ต่อวินาที)
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถทำงานได้ -5 ถึง 65 องศาเซลเซียส
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -40 ถึง 100 องศาเซลเซียส
- ค่า Shock Resistance 150 G (ที่ 10ms)
- ค่า Vibration Resistance 15 G
- รองรับการทำงานในความชื้น 95%
- ขนาดความจุ มีตั้งแต่ 128, 256, 512MB และ 1, 2, 4GB
- มีระบบการรักษาความปลอดภัยแบบ SDMI (Security Digital Music Initiative)
- เทคโนโลยี MagicGate ช่วยป้องกันการคัดลอกข้อมูล
- สวิตช์สำหรับการป้องกันการเขียนทับข้อมูล


Memory Stick Micro





ข้อมูลทั่วไปของ Memory Stick Micro

Memory Stick Micro เป็นการ์ดหน่วยความจำในตระกูล Memory Stick ที่พัฒนาขึ้นมาด้วยความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท SanDisk และ Sony โดยมีแรงจูงใจจากการที่อุปกรณ์พกพาในปัจจุบันมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก และในอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ในอนาคต ก็จะยิ่งต้องการการ์ดหน่วยความจำที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ตามไปด้วย โดย Memory Stick Micro เปิดตัวสู่สาธารณะชนเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือ วันที่ 3 ตุลาคม ปี ค.ศ.2005

ขนาดตัวการ์ดของ Memory Stick Micro นั้น จะมีขนาดเพียง 1 ใน 4 ส่วนของการ์ดหน่วยความจำแบบ Memory Stick Duo หรือ Memory Stick PRO Duo เท่านั้น และมีความหนาเพียง 1.2 มิลลิเมตร ดังนั้นจึงลดพื้นที่ของสล็อตของอุปกรณ์ที่จะนำการ์ดหน่วยความจำชนิดนี้ไปใช้งานเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น Memory Stick Micro ก็ยังสามารถทำงานได้ที่แรงดันไฟ 2 ระดับ (Dual Voltage) เช่นเดียวกันกับการ์ดหน่วยความจำแบบ Dual Voltage RS-MMC Card ซึ่งก็คือ 1.8โวลต์ และ 3.3โวลต์ นั่นเอง ส่วนเรื่องของการขยายขนาดความจุนั้น ทางทฤษฏี Memory Stick Micro สามารถที่จะขยายขนาดความจุได้สูงสุดถึง 32GB แต่อย่างไรก็ตาม ทางผู้ผลิตนั้นไม่ได้ยืนยันว่าในอนาคตจะมี Memory Stick Micro ที่มีความจุใหญ่ถึงขนาดนี้ผลิตออกมาจริงหรือไม่

ความเร็วสูงสุดในการโอนถ่ายข้อมูลของ Memory Stick Micro ตามทฤษฎีนั้นจะอยู่ที่ 160Mbit ต่อวินาที ซึ่งความเร็วนี้ก็ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่นำไปใช้ด้วย สำหรับการนำ Memory Stick Micro ไปใช้งานนั้น ก็สามารถนำไปใส่ในสล็อตที่มีขนาดเท่ากับ Memory Stick PRO ได้ด้วย โดยการใช้อุปกรณ์ Memory Stick Micro Adapter เพื่อแปลงให้ตัวการ์ดมีขนาดเท่ากันกับ Memory Stick PRO นั่นเอง

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ Memory Stick Micro

- ขนาด 15 x 12.5 x 1.2 มิลลิเมตร (1 ใน 4 ของ Memory Stick PRO Duo)
- ปริมาตร 225 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- จำนวนขาขั้วต่อ (Pins) 11Pins
- ขนาดความจุสูงสุดที่เป็นไปได้ 32GB
- ความเร็วสูงสุดของการโอนถ่ายข้อมูล 160Mbit ต่อวินาที
- รองรับการใช้ระดับแรงดันไฟ 2 ระดับ (Dual Voltage) คือ 1.7 ถึง 1.95โวลต์ และ 2.7-3.6โวลต์
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถใช้งานได้ -25 ถึง 85 องศาเซลเซียส
- มีเทคโนโลยี MagicGate ซึ่งช่วยป้องกันการคัดลอกข้อมูล


SD Card (Secure Digital Card)



ข้อมูลทั่วไปของ SD Card

SD Card หรือเรียกชื่อเต็มๆ ว่า Secure Digital Card นั้นนิยมนำมาใช้กับอุปกรณ์พกพาขนาดเล็กต่างๆ หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ, กล้องดิจิตอล หรือเครื่องพีดีเอ โดยที่ SD Card นั้นพัฒนาขึ้นมาอยู่บนพื้นฐานของการ์ดหน่วยความจำแบบ MMC Card โดยจะมีความกว้างและยาวเท่ากัน นั่นคือมีความยาว 32 มิลลิเมตร และกว้าง 24 มิลลิเมตร แต่จะมีความหนาที่มากกว่า MMC Card อยู่เล็กน้อย นั่นคือมีความหนา 2.1 มิลลิเมตร โดยทาง บริษัท Toshiba ได้เพิ่มความสามารถทางด้านฮาร์ดแวร์ที่ทำหน้าที่เข้ารหัสข้อมูลเข้าไปในเทคโนโลยีเดิมของ MMC Card และยังใส่เทคนิคพิเศษที่เรียกว่า DRM (Digital Rights Management) ซึ่งเป็นตัวจัดการเกี่ยวกับเรื่องของลิขสิทธิ์ของข้อมูลมาให้ นอกจากนั้นที่ด้านข้างของ SD Card ยังมีสวิตช์ล็อคสำหรับป้องกันการเขียนข้อมูลทับเอาไว้ให้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม SD Card ก็ยังมีข้อเสียเปรียบ MMC Card อยู่บ้าง เช่นเรื่องของการสูญเสียพื้นที่ข้อมูลไปโดยเปล่าประโยชน์ กล่าวคือในกรณีของ SD Card ในทุกๆ 64MB จะมีอัตราการสูญเสียพื้นที่ข้อมูลไปประมาณ 1.5MB ในขณะที่ MMC Card ในทุกๆ 64MB จะมีอัตราการสูญเสียพื้นที่ข้อมูลไปเพียงประมาณ 0.5MB เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่างกันมากราวๆ 3 เท่าเลยทีเดียว

โดยทั่วไปแล้ว ความเร็วในการทำงานของ SD Card จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับปกติ และ ระดับ High Speed ที่มีอัตราการโอนถ่ายข้อมูลที่เร็วกว่าระดับปกติ ซึ่ง SD Card แบบ High Speed นั้นมักจะถูกนำไปใช้กับงานที่ต้องการความเร็วสนการโอนถ่ายข้อมูลสูงกว่าปกติ เช่นในการใช้งานโหมดถ่ายภาพวีดีโอ หรือภาพต่อเนื่องในกล้องดิจิตอลบางรุ่น หากผู้ใช้ต้องการให้ภาพที่ออกมาดูต่อเนื่องนุ่มนวล ก็ต้องเลือกใช้ SD Card แบบ High Speed เนื่องจากในการใช้งานรูปแบบดังกล่าวย่อมต้องมีจำนวนข้อมูลที่โอนถ่ายในระยะเวลาสั้นๆ มากกว่าปกตินั่นเอง

หากใครมีประสบการณ์มาบ้าง คงจะทราบว่าอุปกรณ์ใดที่มีสล็อตสำหรับใส่ SD Card ก็มักจะนำ MMC Card ไปใส่ได้ด้วยโดยปริยาย เนื่องจาก MMC Card มีความกว้างยาวเท่ากันกับ SD Card เพียงแต่จะบางกว่าเล็กน้อย แต่ในทางกลับกัน อ อุปกรณ์ใดที่มีสล็อตสำหรับใส่ MMC Card จะไม่สามารถนำ SD Card ไปใส่ได้ เนื่องจาก SD Card มีความหนาเกินกว่าที่จะใส่ได้นั่นเอง และหากต้องการนำ SD Card ไปใส่ในสล็อตของ CompactFlash หรือ PC Card ก็สามารถทำได้ โดยใช้ Adapter เป็นตัวแปลง

ในช่วงปี ค.ศ.2001 นั้น การ์ดหน่วยความจำแบบ SmartMedia Card ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในตลาดของกล้องดิจิตอล โดยสามารถแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 50% แต่พอมาในปี ค.ศ.2005 การ์ดหน่วยความจำแบบ SD และ MMC Card นั้นแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นมาจนถึงระดับ 40% ในขณะที่ SmartMedia Card นั้นแทบจะหายไปจากตลาดไปเลยก็ว่าได้ และในปัจจุบัน บรรดาผู้ผลิตกล้องดิจิตอลชั้นนำของโลกหลายราย ก็ได้พัฒนาให้กล้องดิจิตอลของตนเองสามารถนำ SD Card มาใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็น Nikon, Canon, Konica Minolta, Kodak หรือ Panasonic แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกล้องดิจิตอลระดับมืออาชีพ เช่นกล้องดิจิตอลแบบ DSLRs (Digital Single-Lens Reflex Cameras) ถือว่า SD Card ยังไม่ประสบความสำเร็จกับตลาดกลุ่มนี้ เนื่องจากผู้ใช้กล้องในระดับนี้ มักจะนิยมเลือกใช้การ์ดหน่วยความจำแบบ CompactFlash กันมากที่สุด

สล็อตของ SD Card ของอุปกรณ์บางอย่างหรือบางรุ่น สามารถรองรับการใช้งาน SDIO ได้ด้วย โดยเฉพาะอุปกรณ์จำพวกเครื่องพีดีเอ, พ็อคเก็ตพีซี หรืออาจจะเป็น โทรศัพท์มือถือ และ โน๊ตบุ๊ค บางรุ่น ซึ่งถ้าหากอุปกรณ์ใดสามารถรองรับการใช้งาน SDIO ได้ ก็จะสามารถนำอุปกรณ์เสริมพิเศษต่างๆ ที่ต่อผ่านทาง SDIO มาใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็น ตัวรับสัญญาณจีพีเอส, Wi-Fi, บลูทูธ, อินฟราเรด, โมเด็ม, เครื่องอ่านบาร์โค๊ด, วิทยุเอฟเอ็ม หรือแม้แต่กล้องดิจิตอลก็สามารถนำมาเชื่อมต่อได้ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานไม่น้อยเลยทีเดียว

ระดับความเร็วของ SD Card

ในระยะแรกที่ SD Card ถูกผลิตออกมาใช้งาน ผู้ผลิตแต่ละรายก็ผลิต SD Card ออกมาโดยมีคุณสมบัติที่เหมือนกันแทบทุกประการ แต่ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ผลิตแต่ละรายนั้นเริ่มให้ความสำคัญกับระดับความเร็วในการทำงานมากขึ้น ซึ่งหน่วยวัดความเร็วในการทำงานของ SD Card นั้น นิยมใช้กันอยู่ 2 แบบคือ กิโลไบต์ต่อวินาที (KByte/s) และ เมกกะไบต์ต่อวินาที (MByte/s) และตัวคูณความเร็ว มักจะแทนด้วยตัว "x" ซึ่งเป็นทำนองเดียวกันกับไดรฟ์ซีดีรอมนั่นเอง โดยที่ "x" แต่ละหน่วยนั้น จะใช้แทนอัตราความเร็ว 150KByte/s ยกตัวอย่างเช่น

1x = 150KByte/s
2x = 300KByte/s
4x = 600KByte/s
10x = 1.5Mbyte/s
16x = 2.4Mbyte/s
32x = 4.8Mbyte/s
66x = 9.9Mbyte/s
133x = 19.95Mbyte/s

ซึ่งผู้ผลิต SD Card ส่วนมาก มักจะแบ่งกลุ่มของ SD Card ตามความเร็วในการทำงานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ระดับเริ่มต้น, ระดับมืออาชีพ และ ระดับสูงสุด ซึ่ง SD Card ระดับเริ่มต้นนั้น จะหมายถึงรุ่นที่มีความเร็วตั้งแต่ 1x ไปจนถึง 16x ต่อมาถ้าเป็น SD Card ระดับมืออาชีพนั้น จะหมายถึงรุ่นที่มีความเร็วตั้งแต่ 32x ไปจนถึง 66x (เช่น SD Card ยี่ห้อ SanDisk รุ่น Ultra) และสุดท้ายหากเป็น SD Card ระดับสูงสุดนั้น จะหมายถึงรุ่นที่มีความเร็วอย่างน้อย 66x ไปจนถึง 133x (เช่น SD Card ยี่ห้อ SanDisk รุ่น Ultra II, Extreme และ Extreme III) ซึ่งการที่จะตัดสินใจเลือกซื้อ SD Card กลุ่มหรือรุ่นใดมาใช้นั้น ก็คงต้องดูการใช้งานของตนเองเป็นหลัก หากเป็นผู้ใช้ทั่วไป เช่นผู้ที่มีกล้องดิจิตอลคอมแพ็คแบบธรรมดา ไม่มีฟังก์ชันการถ่ายภาพที่มากมาย หรือถ่ายภาพด้วยความละเอียดไม่มาก การเลือกซื้อ SD Card กลุ่มระดับเริ่มต้น ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณไปได้ แต่ถ้าหากเป็นผู้ใช้ที่มีการถ่ายภาพเป็นอาชีพ มีกล้องราคาแพงประสิทธิภาพสูง ถ่ายภาพในโหมดพิเศษบ่อยๆ หรือถ่ายภาพที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ก็ควรจะเลือก SD Card ในกลุ่มระดับมืออาชีพ หรือระดับสูงสุด ก็จะช่วยให้การใช้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ SD Card

- ขนาด 24 x 32 x 2.1 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 2 กรัม
- ปริมาตร 1,612 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- จำนวนขาขั้วต่อ (Pins) 9Pins
- ความเร็วสูงสุดของสัญญาณนาฬิกา 25MHz
- ความเร็วสูงสุดในการโอนถ่ายข้อมูล 19.95Mbyte/s (133x : ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ด้านบน)
- ระดับแรงดันไฟที่สามารถใช้งานได้ 2.7 ถึง 3.6 โวลต์
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถใช้งานได้ 0 ถึง 60 องศาเซลเซียส (-32 ถึง 140 องศาฟาเรนไฮต์)
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -20 ถึง 85 องศาเซลเซียส (-4 ถึง 185 องศาฟาเรนไฮต์)
- รองรับการถอดการ์ดและใส่การ์ดได้ไม่น้อยกว่า 10,000 รอบ
- สวิตช์ล็อคที่ด้านข้างของตัวการ์ด สำหรับป้องกันการเขียนข้อมูลทับ
- มีระบบการรักษาความปลอดภัยแบบ SDMI (Security Digital Music Initiative)
- มีขนาดความจุให้เลือกตั้งแต่ 64, 128, 256, 512MB และ 1, 2GB
- ค่า Shock Resistance 2000 G (เท่ากับการปล่อยลงสู่พื้นจากระดับความสูง 10 ฟุต)
- ฟังก์ชัน DRM (Digital Rights Management) ช่วยจัดการเกี่ยวกับเรื่องของลิขสิทธิ์ของข้อมูล


SD USB Card (Secure Digital USB Card)




ข้อมูลทั่วไปของ SD USB Card

SD USB Card นั้นมีความโดดเด่นในเรื่องของความสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากนอกจากจะสามารถเชื่อมต่อข้อมูลผ่านทางขาขั้วต่อ (Pins) ของการ์ดตามปกติได้แล้ว SD USB Card ก็ยังสามารถเชื่อมต่อข้อมูลผ่านทาง USB Port ได้ด้วยโดยทันที คล้ายๆ กับ Handy Drive หรือ Thumb Drive นั่นเอง ผู้ใช้จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์จำพวก Card Reader ก็สามารถโอนย้ายข้อมูลได้ทันที โดยคุณสมบัติ เทคโนโลยีและประสิทธิภาพโดยรวมนั้น ไม่ได้แตกต่างไปจาก SD Card ปกติ จะแตกต่างก็เพียงแค่ขนาดของตัวการ์ดเท่านั้น นั่นคือ SD USB Card จะมีขนาดตัวการ์ดจริงๆ (ไม่รวมหัวต่อ USB) เท่ากันกับการ์ดหน่วยความจำแบบ RS-MMC Card เพียงแต่ความหนายังคงเท่ากันกับ SD Card ปกติทั่วไป

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ SD USB Card

- ขนาด 24 x 18 x 2.1 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 2 กรัม
- จำนวนขาขั้วต่อ (Pins) 9Pins
- หัวต่อสำหรับเชื่อมต่อกับ USB Port
- ความเร็วสูงสุดของสัญญาณนาฬิกา 25MHz
- ความเร็วสูงสุดในการโอนถ่ายข้อมูล 19.95Mbyte/s (133x : ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ด้านบน)
- ระดับแรงดันไฟที่สามารถใช้งานได้ 2.7 ถึง 3.6 โวลต์
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถใช้งานได้ 0 ถึง 60 องศาเซลเซียส (-32 ถึง 140 องศาฟาเรนไฮต์)
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -20 ถึง 85 องศาเซลเซียส (-4 ถึง 185 องศาฟาเรนไฮต์)
- รองรับการถอดการ์ดและใส่การ์ดได้ไม่น้อยกว่า 10,000 รอบ
- สวิตช์ล็อคที่ด้านข้างของตัวการ์ด สำหรับป้องกันการเขียนข้อมูลทับ
- มีระบบการรักษาความปลอดภัยแบบ SDMI (Security Digital Music Initiative)
- มีขนาดความจุให้เลือกตั้งแต่ 64, 128, 256, 512MB และ 1, 2GB
- ค่า Shock Resistance 2000 G (เท่ากับการปล่อยลงสู่พื้นจากระดับความสูง 10 ฟุต)
- ฟังก์ชัน DRM (Digital Rights Management) ช่วยจัดการเกี่ยวกับเรื่องของลิขสิทธิ์ของข้อมูล


miniSD Card (Mini Secure Digital Card)



ข้อมูลทั่วไปของ miniSD Card

miniSD Card นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาครั้งแรกโดย บริษัท SanDisk และเปิดตัวสู่สาธารณะชนครั้งแรก ณ งาน CeBIT ในปี ค.ศ.2003 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจัดขึ้นที่ เมืองฮานโนเวอร์ ประเทศเยอรมัน โดยที่ miniSD Card นี้ถือว่าเป็นการ์ดหน่วยความจำอีกชนิดหนึ่งที่ถูกพัฒนาต่อจากการ์ดหน่วยความจำต้นแบบของตนเอง คือ SD Card ให้มีขนาดที่เล็กลง ในทำนองเดียวกันกับ Memory Stick Duo ที่ปรับขนาดลงมาจาก Memory Stick หรือ RS-MMC Card ที่ปรับขนาดลงมาจาก MMC Card เป็นต้น จะต่างกันก็เพียงแต่ miniSD Card นั้นมีขนาดลดลงจากขนาดของ SD Card ปกติถึงประมาณ 60% เลยทีเดียว และไม่มีสวิตช์ที่ใช้สำหรับป้องกันการเขียนข้อมูลทับอยู่ในตัว สิ่งที่ miniSD Card แตกต่างจาก SD Card อีกเรื่องก็คือจำนวนของขาขั้วต่อ (Pins) ที่ miniSD Card มีจำนวนทั้งหมด 11Pins แต่ SD Card มีเพียง 9Pins

ในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน คุณสมบัติ หรือเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับ miniSD Card นั้น โดยรวมก็เหมือนกันกับ SD Card ปกติ ซึ่งในปัจจุบันการ์ดหน่วยความจำแบบ miniSD Card ได้รับความนิยมนำไปใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์พกพาที่มีขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ, เครื่องพีดีเอ, เครื่องเล่นเพลง หรือ กล้องดิจิตอล เป็นต้น และเช่นเดียวกันกับการ์ดหน่วยความจำส่วนใหญ่ ในการใช้งาน ผู้ใช้สามารถนำ miniSD Card นี้ไปใส่ในสล็อตของ SD Card ปกติได้ทันที โดยใช้ตัว Adapter เพื่อแปลงขนาดให้เท่ากันกับ SD Card

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ miniSD Card

- ขนาด 21.5 x 20 x 1.4 มิลลิเมตร (0.84 x 0.78 x 0.05 นิ้ว : 40% ของ SD Card)
- น้ำหนัก 1 กรัม
- ปริมาตร 589 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- จำนวนขาขั้วต่อ (Pins) 11Pins
- มีพื้นฐานของเทคโนโลยีการผลิตแบบ SLC NAND Flash Chips
- ระดับแรงดันไฟที่สามารถใช้งานได้ 2.7 ถึง 3.6โวลต์
- ระดับความเร็วในการเขียนข้อมูล 1 ถึง 5.5MByte ต่อวินาที
- ระดับความเร็วในการอ่านข้อมูล 4.5 ถึง 7.85MByte ต่อวินาที
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถทำงานได้ 0 ถึง 60 องศาเซลเซียส (-13 ถึง 140 องศาฟาเรนไฮต์)
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -20 ถึง 65 องศาเซลเซียส (-68 ถึง 150 องศาฟาเรนไฮต์)
- สามารถรองรับการถอดการ์ดและใส่การ์ดได้ 10,000 รอบ
- มีระบบการรักษาความปลอดภัยแบบ SDMI (Security Digital Music Initiative)
- มีขนาดความจุให้เลือกตั้งแต่ 64, 128, 256, 512MB และ 1GB


microSD Card (Micro Secure Digital Card) หรือ TransFlash Card



ข้อมูลทั่วไปของ microSD Card

microSD Card มีชื่อเรียกเดิมว่า TransFlash Card ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการ์ดหน่วยความจำแบบเดียวกัน โดยมีขนาดที่เล็กมากเป็นพิเศษ คือมีความยาว 15 มิลลิเมตร ความกว้าง 11 มิลลิเมตร ความหนา 1 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักเพียง 0.4 กรัม จึงถือว่า microSD Card เป็นการ์ดหน่วยความจำประเภทหนึ่งที่มีขนาดที่เล็กมากที่สุดในปัจจุบัน หากให้เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือมีขนาดประมาณปลายนิ้วมือของคนเราเท่านั้น ซึ่ง microSD Card นั้นพัฒนาออกมาเพื่อให้เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้กับอุปกรณ์พกพาที่มีขนาดเล็กหลายประเภท เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ เครื่องเล่นเพลง microSD Card นั้นพัฒนาขึ้นมาด้วยความร่วมมือของ บริษัท โมโตโรลา และ SanDisk ซึ่งต่างก็เป็นยักษ์ใหญ่ของการผลิต โทรศัพท์มือถือ และการผลิตการ์ดหน่วยความจำ ตามลำดับ

ตั้งแต่ที่ microSD Card ถือกำเนิดขึ้นมานั้น ก็มีการพัฒนาให้มีขนาดความจุที่มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 16MB จนถึง 512MB ในปัจจุบัน โดยทาง บริษัท SanDisk นั้นมีโครงการที่จะเปิดตัว microSD Card ที่มีขนาดความจุ 1GB ในปลายปี ค.ศ.2005 นี้ และขนาดความจุ 2GB ในปี ค.ศ.2006 ในปัจจุบันมีผู้ผลิต โทรศัพท์มือถือ รายใหญ่หลายรายได้พัฒนา โทรศัพท์มือถือ ของตนเองให้สามารถรองรับการใช้งาน microSD Card ได้ด้วย เช่น Motorola, Samsung หรือ Kyocera และเช่นเดียวกัน ในการใช้งาน ผู้ใช้สามารถนำ microSD Card ไปใส่ในสล็อตของ SD Card ปกติได้ทันที เพียงแค่นำ microSD Card ไปใส่ในตัว Adapter เท่านั้น ซึ่งก็มีลักษณะการใช้งานคล้ายคลึงกันกับการ์ดหน่วยความจำอีกหลายประเภท

ข้อมูลเชิงเทคนิคของ microSD Card

- ขนาด 11 x 15 x 1 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 0.4 กรัม
- ปริมาตร 165 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- จำนวนขาขั้วต่อ (Pins) 8Pins
- ชื่อเดิมที่ใช้คือ TransFlash Card
- ระดับแรงดันไฟที่สามารถใช้งานได้ 2.7 ถึง 3.6โวลต์
- อัตราความสิ้นเปลืองพลังงานขณะอยู่ในสถานะ Sleep น้อยกว่า 150ไมโครแอมแปร์
- อัตราความสิ้นเปลืองพลังงานขณะอ่านข้อมูล น้อยกว่า 45mA
- อัตราความสิ้นเปลืองพลังงานขณะเขียนข้อมูล น้อยกว่า 50mA
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถทำงานได้ -25 ถึง 85 องศาเซลเซียส
- ระดับอุณหภูมิที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ -40 ถึง 85 องศาเซลเซียส
- ค่า Shock Resistance 1000 G (เท่ากับการปล่อยลงสู่พื้นจากระดับความสูง 5 ฟุต)
- ค่า MTBF (Mean Time Between Failures : ค่าเวลาโดยประมาณในกรณีที่ไม่เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน) 1,000,000 ชั่วโมง
- มีขนาดความจุให้เลือกตั้งแต่ 16, 32, 64, 128, 256 และ 512MB


PC Card Adapter



ข้อมูลทั่วไปของ PC Card Adapter

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับ PC Card กันเสียก่อน ซึ่ง PC Card สามารถเรียกได้อีกอย่างว่า PCMCIA Card โดย PCMCIA นั้นย่อมาจากคำว่า Personal Computer Memory Card International Association ซึ่งก็คือมาตรฐานกลางสำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมภายนอกสำหรับเครื่องโน็ตบุ๊ค PC Card โดยทั่วไปนั้นจะมีขนาดพอๆ กับบัตรเครดิต พกพาได้สะดวก เมื่อใส่เข้าไปในสล็อต PC Card หรือ PCMCIA Card ก็จะมีความกะทัดรัดเป็นอย่างดี และอุปกรณ์เสริมภายนอกที่พัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของ PC Card นี้ ก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น Wi-Fi, โมเด็ม, RAM, Flash Memory, SRAM หรือ LANs เป็นต้น

PC Card นั้นมีจำนวนขาขั้วต่อ (Pins) อยู่ทั้งหมด 68Pins และมีรูปแบบที่แตกต่างกันตามความหนาอยู่ 3 รูปแบบ คือ Type I, Type II และ Type III โดย PC Card Type I นั้นจะมีความหนา 3.3 มิลลิเมตร, PC Card Type II นั้นจะมีความหนา 5.0 มิลลิเมตร และ PC Card Type III นั้นจะมีความหนา 10.5 มิลลิเมตร ซึ่ง PC Card แต่ละรูปแบบ ก็จะมีความเหมาะสมกับการนำไปพัฒนาอุปกรณ์เสริมที่แตกต่างกันออกไป

PC Card Adapter ก็เป็นอุปกรณ์อีกประเภทหนึ่งที่ ที่ใช้เชื่อมต่อผ่านทางสล็อต PC Card หรือ PCMCIA Card ของเครื่องโน็ตบุ๊ค โดย PC Card Adapter สำหรับการ์ดหน่วยความจำนี้ ก็เปรียบเสมือนเป็นการเพิ่มความสามารถให้เครื่องโน็ตบุ๊คสามารถอ่านการ์ดหน่วยความจำประเภทต่างๆ ได้นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น PC Card Adapter รุ่น 6-in-1 ของ SanDisk นั้นสามารถรองรับการอ่านการ์ดหน่วยความจำประเภทต่างๆ ได้ถึง 6 ประเภท ซึ่งได้แก่ CompactFlash Card Type I, SD Card, MMC Card, SmartMedia Card, Memory Stick และ xD-Picture Card สุดท้าย จะว่าไปแล้ว PC Card Adapter นั้นมีความสามารถไม่แพ้อุปกรณ์อ่านการ์ดหน่วยความจำที่เรียกว่า Card Reader สักเท่าไหร่ และมีขนาดที่กะทัดรัดมากกว่าอีกด้วย ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีเครื่องโน็ตบุ๊ค แต่ไม่มีสล็อตสำหรับอ่านการ์ดหน่วยความจำติดมาให้ด้วยในตัว การเลือกใช้ PC Card Adapter ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย


Card Reader



ข้อมูลทั่วไปของ Card Reader

Card Reader เป็นอุปกรณ์สำหรับอ่านการ์ดหน่วยความจำ ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง หรือได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันก็ว่าได้ สังเกตได้จากไม่ว่าจะไปที่ไหนที่ต้องมีการใช้งานการ์ดหน่วยความจำบ่อยๆ ก็มักจะเห็นอุปกรณ์ Card Reader นี้อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ร้านรับอัดรูปที่ถ่ายจากกล้องดิจิตอล, ร้านขายโทรศัพท์มือถือ, ร้านรับลงโปรแกรมโทรศัพท์มือถือ หรือร้านขายการ์ดหน่วยความจำ เป็นต้น โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Card Reader ได้รับความนิยมอย่างสูง ก็มีอยู่หลายปัจจัย ที่เห็นได้ชัดประการแรกก็คือ Card Reader เพียงตัวเดียว ก็สามารถอ่านการ์ดหน่วยความจำได้แทบทุกประเภท ประการที่สองก็คือ Card Reader ปัจจุบันมีราคาที่ไม่แพงถ้าเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ ประการสุดท้ายคือ Card Reader ใช้งานได้ง่ายมากและไม่ยุ่งยาก เริ่มต้นเพียงแค่เสียบสาย USB ของ Card Reader เข้ากับ USB Port ของเครื่องคอมพิวเตอร์ หากเป็นระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ๆ สักหน่อย เช่น Windows XP ก็จะตรวจเจอได้ทันทีโดยไม่ต้องลง Driver ให้ยุ่งยาก และพอเปิดดูใน My Computer หรือ Windows Explorer ก็จะพบกับ Drive ใหม่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะเห็นเพิ่มขึ้นมาอีกกี่ Drive นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าช่องเสียบการ์ดของ Card Reader ที่ใช้อยู่นั้น มีอยู่ทั้งหมดกี่ช่อง สมมติถ้าหากมีอยู่ 4 ช่อง ก็จะปรากฎ Drive ใหม่เพิ่มขึ้นมาจากปกติ 4 Drive นั่นเอง

สำหรับ Card Reader ที่วางขายกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนั้น ก็มีอยู่หลายรุ่นหลายยี่ห้อ และมักจะระบุชื่อรุ่นในเชิงที่สื่อว่า Card Reader รุ่นนั้นเพียงตัวเดียว สามารถอ่านการ์ดหน่วยความจำไดกี่แบบ เช่น 6-in-1, 8-in-1, 16-in-1, 18-in-1 หรือแม้กระทั่ง 29-in-1 ก็ยังมี แต่ในการใช้งานจริงคงจะต้องมีการดัดแปลงขนาดของการ์ดหน่วยความจำด้วย Adapter บ้างในบางกรณี เนื่องจากจำนวนช่องเสียบจริงๆ นั้น ส่วนใหญ่จะมีแค่ 3-4 ช่องเท่านั้น เช่นแบบ 29-in-1 รุ่นหนึ่งอาจจะมีช่องสำหรับเสียบการ์ดอยู่ทั้งหมดแค่ 4 ช่องเป็นต้น ส่วนวิธีการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น แทบทั้งหมดจะเป็นการเชื่อมต่อผ่าน USB Port บางรุ่นก็จะเป็น USB เวอร์ชัน 1.0, 1.1 บางรุ่นก็จะเป็น USB เวอร์ชัน 2.0 ซึ่งหากเป็นเวอร์ชันนี้ ก็จะมีอัตราการโอนถ่ายข้อมูลที่สูงกว่ามาก แต่ USB Port ของฝั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ต้องรองรับ USB เวอร์ชัน 2.0 ด้วยเช่นกัน จึงจะสามารถใช้ประโยชน์กับความเร็วที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ได้


สรุปส่งท้าย

สุดท้ายนี้ก็หวังว่าบทความเรื่องนี้คงจะสามารถช่วยให้ผู้อ่านทุกๆ ท่านได้รู้ได้เข้าใจเกี่ยวกับการ์ดหน่วยความจำประเภทต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ไม่มากก็น้อย ผมในฐานะผู้เขียนบทความนี้ขึ้นมาก็พยายามทำเนื้อหาให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้เพื่อให้ผู้อ่านทุกๆ ท่านได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด และหากมีข้อผิดพลาดประการใดที่พบเจอในบทความนี้ ก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า ณ ที่นี้ และคงต้องรบกวนขอคำชี้แนะด้วยครับ

.............................................................................................................................................................................

ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม.

บทความโดย : Oska (Thaimobilecenter Editor) www.thaimobilecenter.com

_________________
MemoryToday.com โทร.02-874-4531
Update ราคาล่าสุด!! สอบถามเพิ่มเติม/ขอใบเสนอราคา โทรมาหาเราสิครับ!!

กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก เข้าชมเว็บไซต์ MSN
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MemoryToday.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> MemoryToday.com : สอบถามข้อมูลสินค้าและการบริการ ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้





ผู้จำหน่าย RAM, SSD, HDD & Upgrade Parts สำหรับ Server อันดับ 1 ของประเทศไทย !!
RAM and SSD -> Server, Workstation, Apple Mac, Notebook, Desktop PC : Server Options -> Processor, Memory, SAS HDD, Storage Controller, Power Supply, Spare Part
© 2004-2023 MemoryToday.com, All rights reserved.
MemoryToday Co., Ltd. 7 IT-Mall Fortune Town Bldg., 3rd Floor, Room 3R22, Ratchadapisek Rd., Dindaeng, Bangkok 10400 Tel: 02-641-0055 Fax: 02-641-0066
Web site engine's code is Copyright by PHP-Nuke. All Rights Reserved. PHP-Nuke is Free Software released under the GNU/GPL license.